Translate

Blog Archive

Home » » เจาะดราม่าชนิดไร้ลำเอียง ‘โขน’ ไทย-เขมร สรุปของใคร?

เจาะดราม่าชนิดไร้ลำเอียง ‘โขน’ ไทย-เขมร สรุปของใคร?


“โขน เป็นของใคร?” ก่อนอื่นเจ๊ดำขอออกตัวก่อนเลยนะคะว่า รายงานพิเศษชิ้นนี้ จะไม่ฟันธงลงความมั่นใจว่า สรุปสุดท้าย “โขน” เป็นของชาติใดกันแน่ แต่ในครั้งนี้ เจ๊อยากให้ผู้อ่านสละเวลาสักนิดใช้ความคิดพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ด้านล่าง และเมื่อคุณอ่านจบ อย่าลืมกลับมาบอกเจ๊นะคะว่า คุณมีคำตอบอย่างไร?

การแต่งกายของนาฏศิลป์ โขน

จากประเด็นดราม่าสะเทือนสองประเทศ วันนี้เจ๊ดำขอรับอาสาทำหน้าที่คลี่คลายปัญหาคาใจเรื่อง “โขนของใคร?” โดยเจ๊ได้พูดคุยกับ อ.จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) หรือในฐานะครูโขนคนเก่าคนแก่ของไทย ท่านได้บอกเล่าถึงความแตกต่างระหว่างโขนไทย-โขนเขมรว่า การแสดงโขนของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีเรื่องรามายณะของประเทศอินเดีย เพราะฉะนั้น โขนของทั้งสองประเทศ จึงมีความคล้ายคลึงกันกันอยู่บางประการ และหากจะให้ตนระบุว่า แท้จริงแล้วโขนเป็นของใครกันแน่ ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่ตนจะตอบข้อคาใจนี้ได้
แต่ผมได้รับความรู้จากคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ครูด้านการแสดงโขนของผม ซึ่งครูลมุลคนนี้เคยไปสอนโขนอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เพราะฉะนั้น พวกคุณก็พิจารณากันเองแล้วกันว่า ครูไทยที่ไปสอนโขนอยู่ที่เขมร แล้วชาวเขมรก็ได้รับความรู้เรื่องโขนจากเราไป สุดท้ายแล้วโขนเป็นของใครผมไม่รู้ แต่คุณลองพิจารณาจากที่ผมบอกดูแล้วกัน” ครูต้อย จตุพร ศิลปินแห่งชาติด้านโขนในวัย 80 ปีบอกกับเจ๊ด้วยน้ำเสียงทรงพลังฟังชัด
“ทางเขมรยังเคยส่งคนมาเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ของประเทศไทยเลย ซึ่งตอนนั้นวิทยาลัยฯ ในปัจจุบันยังเป็นโรงเรียนนาฏศิลป์อยู่เลย และผมในเวลานั้น ก็ยังเป็นนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ เพราะฉะนั้น ผมจึงได้เห็นกับตาตัวเองว่า ครูไทยได้สอนการร่ายรำให้แก่ชาวเขมรในรูปแบบของไทย แต่เขาเอาหลักการของเราไป โดยดัดแปลงให้เป็นไปตามหลักการของเขา”คนเก่าคนแก่ด้านโขนไทย แสดงทรรศนะตามประสบการณ์ชีวิต
เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของตัวละครโขน
การแสดงโขนมีนัยยะของความเป็นสมบัติของกษัตริย์
โขนไทย - โขนเขมร เหมือนต่างอย่างไร?
โดย ครูต้อย จตุพร ยังได้บ่งบอกถึงข้อแตกต่างของโขนไทย-โขนเขมรอีกด้วยว่า เครื่องแต่งกายสำหรับโขนไทย จะเลียนแบบเครื่องทรงของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไทย แต่จะไม่เหมือนทุกประการ เพราะถูกหยิบปรับจับมาประยุกต์ให้เข้ากับการรำละครมากขึ้น โดยยกตัวอย่างเช่น อินทรธนูของพระเจ้าแผ่นดินจะมีลักษณะเป็นพู่อยู่ที่ไหล่ แต่สำหรับอินทรธนูของการแสดงโขน จะมีลักษณะโค้งสูง เป็นต้น
“ผมรับประกันเลยว่า เครื่องแต่งกายโขนของประเทศใดๆ ก็ตาม ไม่มีผู้ใดแต่งเหมือนประเทศไทยแน่นอน เขมรก็แต่งกายอีกแบบหนึ่ง อินเดียก็แต่งอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการแต่งกายของโขนไทยนับเป็นเสน่ห์ที่ไร้ผู้ใดเปรียบเหมือน” ศิลปินแห่งชาติปี 2552 กล่าวหนักแน่น
“ผมเคยมีโอกาสได้ไปแสดงโขนที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งผู้ชมชาวเยอรมันได้บอกกับผมว่า การแต่งกายของโขนไทยมีความชัดเจนเป็นอย่างดี ซึ่งพวกเขาสามารถแยกแยะได้ว่า ใครแสดงเป็นยักษ์ เป็นลิง เป็นพระ แต่ของประเทศอื่นๆ จะดูไม่ออกเลย และการไปแสดงของเราในครั้งนั้นเป็นที่ประทับใจของชาวเยอรมันอย่างมาก จนพวกเขามาขอให้เราทำการแสดงเพิ่มอีกหนึ่งรอบ และมีการตีพิมพ์ชื่นชมลงในหนังสือพิมพ์เยอรมันด้วยว่า การแสดงโขนไทยสะกดจิตผู้ชมชาวเยอรมันให้หยุดนิ่งกับการแสดงตรงหน้า แม้เข็มหมุดตกลงกับพื้น ผู้ชมก็ยังไม่ได้ยินเสียง (หมายถึง ผู้ชมชาวเยอรมันตั้งใจดูการแสดงโขนไทยอย่างตั้งใจจริง ไม่วอกแวกกับสิ่งเร้าใดๆ) เจ๊ดำได้ยินอาจารย์ท่านเล่าเช่นนี้ ก็ปลื้มใจแทนไม่น้อย
การเขียนสีใบหน้าโขน

ส่วนการร่ายรำระหว่างโขนไทย และโขนเขมรนั้น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย อ.จตุพร รัตนวราหะ กล่าวกับเจ๊ว่า การร่ายรำของโขนไทยจะทรงตัวชนิดอกผายไหล่ผึ่ง แต่โขนของประเทศต่างๆ จะไม่ยืนตรง เพราะตัวผู้แสดงจะอ่อนช้อยไปตามลีลาของแต่ละท่วงท่า ดังนั้น ผู้คนโดยทั่วไป จะเห็นได้ว่า เด็กนักเรียนที่ร่ำเรียนการแสดงโขน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด หรือทำอะไรอยู่ พวกเขาจะอกผายไหล่ผึ่งหน้าตึงหลังตรง และมีบุคลิกที่ดี
“การร่ายรำของโขนไทย จะมีศัพท์เฉพาะไว้ใช้เรียกกันว่า เก็บก้น ซึ่งการเก็บก้นนั้น จะทำให้หลังของผู้แสดงยืดตรงอย่างสง่าผ่าเผย ส่วนประเทศอื่นๆ จะไม่มีการเก็บก้นอย่างไทย เพราะผู้แสดงของประเทศอื่นๆ จะใช้ลำตัวส่วนบนในการร่ายรำมากกว่าส่วนล่าง นอกจากนี้ การแสดงโขนของไทยจะมีการแบะเข่าตรง ส่วนประเทศอื่นๆ จะมีการหลบเข่า เพราะฉะนั้น โขนของแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” ศิลปินแห่งชาติด้านโขน อธิบายไว้อย่างเห็นภาพ
การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ในรูปแบบของโขน

สิ่งที่เจ๊ดำเห็นจากคำบอกเล่าของ อ.จตุพร ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขนไทย หรือโขนเขมร 
โขนทั้งสองประเทศ ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ 
และคุณเห็นอะไรเหมือนเจ๊ไหม?...โขนไทย ก็คือโขนไทย โขนเขมร ก็คือโขนเขมร!
สง่างาม เอกลักษณ์โขนไทย

นอกจากนี้ เจ๊ดำ ยังได้พูดคุยกับ อาจารย์ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม หรือในฐานะที่เป็นผู้คร่ำหวอดในเรื่องราวของประเทศกัมพูชา อาจารย์ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้เจ๊ฟังอย่างละเอียดยิบ ประหนึ่งย้อนอดีตไปในยุคโบราณ แต่วันนี้ เจ๊ขอเขียนไปไทม์ไลน์คร่าวๆ อ่านง่ายๆ เอาใจชาวเน็ตเสียหน่อย โดยเรื่องนี้มีอยู่ว่า...
ในยุคที่อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองอย่างมาก ระหว่างนั้น ชาติไทยเริ่มเจริญขึ้น แต่ไม่เท่าเขมร --> เขมรจึงเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลต่างๆ จากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแขนงต่างๆ, อารยธรรม, ความเชื่อ รวมถึงวิธีการปกครองบ้านเมือง --> ในจังหวะที่เขมรได้รับอิทธิพลจากอินเดียนั้น ชาติไทยยังไม่ได้รับในส่วนนี้มา --> เมื่อชาติไทยเริ่มรุ่งเรือง ในสมัยอยุธยามีการแสดงของไทยที่เรียกว่า การชักนาคดึกดำบรรพ์
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศกัมพูชา ขยายความในส่วนของชักนาคดึกดำบรรพ์ ว่า จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สามารถคาดคะเนได้ว่า การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เนื่องจากในยุคสมัยนั้นๆ เขมรเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้อิทธิพลต่างๆ เข้ามาที่เขมรเป็นประเทศแรก และที่สำคัญเรื่องราวของรามเกียรติ์ ยังถูกสลักไว้ที่ปราสาทหินในเขมร ก่อนจะบังเกิดชาติไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ชาวเขมรจึงสามารถพูดได้ว่า เขมรได้รับอิทธิพลเรื่องรามเกียรติ์มาก่อนใคร”
คนไทยมีการวิวัฒนาการจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ มาเป็นพวกโขน

ทั้งนี้ การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ของไทย ได้ปรากฏอยู่ใน กฎมณเฑียรบาลช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา --> โดยคำว่า ชักนาคดึกดำบรรพ์ มาจากคำว่า ตึกตะบัล ในภาษาเขมร --> ซึ่งการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ มีการแต่งกายเป็นตัวละคร ลิง, ยักษ์ แต่ก็ยังไม่เรียกว่าโขน --> หลังจากนั้น ชาวไทยได้ผนวกเอาการแสดงกระบี่กระบอง และการเชิดหนังใหญ่ มารวมเข้ากับการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ --> ผสมผสานเรื่อยมา จนเรียกว่า “โขน”
จากนั้น คนไทยจึงมี โขน เป็นการแสดงของตัวเอง แต่ก็มิได้หมายความว่า ไทยไปเอาโขนจากเขมรมา เพราะในยุคนั้น ยังไม่มีคำว่า โขน และครั้งหนึ่งในจดหมายของชาวต่างชาติ ได้มีการกล่าวถึงโขนไทยในสมัยอยุธยาไว้ด้วย ซึ่งจุดนี้เป็นเครื่องยืนยันที่มาของโขนไทยได้เป็นอย่างดี”อาจารย์ปฐมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศกัมพูชา อธิบายชัดเจน
สมัยอยุธยามีการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์มาเรื่อยๆ โดยการผนวกการแสดงกับกระบี่กระบอง โยกตัวโดยมีอาวุธ และผสมผสานกับการเชิดหนังใหญ่
เมื่ออยุธยารุ่งเรือง ระหว่างนั้น เขมรกำลังเสื่อมอำนาจ --> ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เคลื่อนทัพไปตีเขมร และได้รับชัยชนะ --> เจ้าสามพระยา นำทรัพยากรที่มีค่า ของเขมร เช่น ช้างสัมฤทธิ์, การละเล่น กลับชาติไทยมาด้วย จึงทำให้การแสดงของไทยผสมปนเปกับของเขมร --> ชาติไทยพัฒนานาฏศิลป์ขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ เขมรกำลังเสื่อมทุกขณะ --> ในสมัยกรุงธนยุรี กษัตริย์เขมรหนีมาพึ่งบารมีกษัตริย์ไทย และอยู่ภายใต้อำนาจชาติไทย --> ดังนั้น การแสดงโขนของเขมรจึงไม่อลังการเท่าไทย --> เข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ มีกษัตริย์เขมรเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 4 พระองค์ เมื่อโตขึ้น 2 ใน 4 พระองค์ ถูกส่งกลับไปเป็นกษัตริย์ที่เขมร
“ในจุดนี้ อาจจะมีนัย หรือความน่าจะเป็นบางประการที่กษัตริย์เขมรได้เห็นการแสดงโขนไทย แล้วอาจหยิบเอาการแสดงโขนของไทยบางส่วน ไปปรับประยุกต์ฟื้นฟูโขนเขมรที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยโขนของเขมร มีชื่อเรียกว่า ละโคนโขน อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทยในช่วงนี้ มีแนวโน้มว่า ได้แพร่ขยายไปสู่เขมรค่อนข้างมาก” ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศกัมพูชา วิเคราะห์
การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ การแสดงหนังใหญ่และกระบี่กระบองนั้น ได้ถูกผสมผสานกันมา จนกลายเป็นโขนของไทยในปัจจุบัน
เมื่อเข้าสู่ สมัยรัชกาลที่ 5 มีหม่อมเจ้าท่านหนึ่ง ชื่อหม่อมเจ้าฉวีวาด --> หม่อมเจ้าฉวีวาดได้รับมรดกสำคัญจากท่านย่า นั่นก็คือ คณะละครใน --> แต่หม่อมเจ้าท่านนี้ มีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับกษัตริย์ จึงหนีไปยังประเทศเขมร โดยพกเอาบริวาร และคณะละครในไปด้วย
“จากเหตุการณ์ของหม่อมเจ้าฉวีวาดในครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า การแสดงต่างๆ ของไทยได้ไปแพร่ขยายในเขมรก็เป็นได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศกัมพูชา คาดการณ์
“ท้ายที่สุดแล้ว หากไทยหรือเขมร จะนำโขนไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ผมคาดว่า สามารถทำได้ เพราะโขนไทย ก็คือโขนไทย โขนเขมรก็คือโขนเขมร แต่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะการแสดงโขนเท่านั้น คงจะไม่ได้ เพราะมิใช่เฉพาะไทยและเขมรเท่านั้น ที่มีการแสดงโขน แต่ประเทศพม่า ลาว และอินโดนีเซียก็มีโขนเช่นกัน อาจารย์ปฐมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศกัมพูชา แสดงทรรศนะอย่างมีเหตุมีผล

สรุปสุดท้ายของรายงานพิเศษชิ้นนี้ เจ๊ดำคงจะไม่ฟันธงลงเน้นๆ ว่า “โขน” นั้นเป็นของใคร
เพราะคำบอกเล่าข้างต้น ก็เป็นคำตอบชั้นดีของโจทย์นี้อยู่แล้ว
แต่สิ่งสำคัญที่ทุกท่านควรตระหนักถึง ก็คือ
“ความเป็นพี่เป็นน้อง ระหว่างไทย-เขมร”.
~เจ๊ดำ~

0 comments:

Post a Comment